The Community Journey: การสร้าง Maker รุ่นใหม่กับงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ที่จังหวัดน่าน

The Community Journey : การสร้าง Maker รุ่นใหม่กับ
งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ที่ อ. สันติสุข จ. น่าน

          วันที่ 20-23 เดือนมีนาคม 2022 ที่ผ่านมา FabLab Bangkok ได้มีโอกาสร่วมกัน จัดเวิร์กช็อป (Workshop) กับ KMUTT Social Lab  และ บริษัท วงศ์ไผ่ จำกัด ได้จัดอบรมการทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ การใช้เครื่องมือ การนำวัสดุที่เหลือใช้มาตกแต่งและการทรีทเม้นท์ไผ่ (Bamboo treatment) เพื่อเพิ่มทักษะให้กับชุมชน เพิ่มมูลค่าให้กับไม้ไผ่และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน อ.สันติสุข จ.น่าน และแน่นอนว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เราต้องออกไปทำงานนอกสถานที่และเป็นการออกนอกสถานที่เพื่อแชร์ประสบการณ์ เทคนิค วิธีคิดและการสร้างสรรค์งานในสไตล์ FabLab Bangkok เพื่อให้กับชุมชน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต้องลองติดตามดูกัน

             “ไม้ไผ่ ” เป็นวัตถุดิบที่ชุมชนและกลุ่มกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไผ่ครบวงจร อ. สันติสุข จ.น่าน รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เป็นวัตถุดิบที่ถูกใช้ในหลาย ๆ บทบาท ถูกใช้ชีวิตประจำวันในหลากหลายมิติ แน่นอนว่า จ. น่านเอง ก็มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่หลายหมื่นไร่ แต่ไม้ไผ่เองกลับ ไม่สร้างรายได้อย่างที่ควรจะเป็น ด้านชุมชนเองก็มีแนวคิดที่อยากจะต่อยอดให้สิ่งที่มี เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น KMUTT Social Lab จึงได้ริเริ่มโครงการ นวัตกรชุมชนน่าน เพื่อพัฒนาทักษะการเพิ่มมูลค่าจากไผ่เพื่อสร้างรายได้ส่งเสริมเป็นอาชีพ ”  เล็งเห็นศักยภาพของ FabLab Bangkok เป็นหนึ่งในหน่วยงานของ KX Knowledge Xchange ที่จะสามารถสนับสนุนในกิจกรรมของการเพิ่มทักษะและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ชิ้นงานได้  นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินทางของ FabLab Bangkok ในครั้งนี้

 โจทย์สำหรับวันนี้ คือ 

“เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ที่เข้ากับบริบทของสังคมเมืองที่คนมีพื้นที่การใช้งานค่อนข้างจำกัดและพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบตกแต่งในสไตล์โมเดิร์น (Modern Style)”  

ดังนั้น งานไม้ไผ่แบบดั้งเดิมจึงไม่เข้ากับสิ่งที่พูดมาตอนต้นเท่าไหร่ ทั้งในเรื่องขนาดและการออกแบบ

            ความยากในการทำงานครั้งนี้ คือ ความแตกต่างกันของผู้ร่วมกิจกรรม ทั้งเรื่องของทักษะและอายุของผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป (Workshop) แต่ละคนค่อนข้างห่างกันมาก ๆ มีตั้งแต่วัยรุ่นจนไปถึงคุณปู่-คุณตาวัยเกษียณ ในด้านทักษะช่างก็มีตั้งแต่คนไม่เคยใช้เครื่องมือเลยไปจนถึงช่างทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่แบบมืออาชีพ และเวลาในการทำ เวิร์กช็อป (Workshop) ที่มีอยู่อย่างจำกัด

                “เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่” ต้องถูกออกแบบให้น่าสนใจ ตอบโจทย์บริบทสังคมเมืองเรื่องพื้นที่ใช้สอย ขนาดต้องกะทัดรัดแต่ยังคงความแข็งแรง รูปลักษณ์ต้องไปได้กับไลฟ์ไตล์ (life style) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มคนเมือง ส่วนขั้นตอนการทำงาน ต้องไม่ง่ายจนคนที่มีทักษณะสูงไม่สนใจทำ หรือ ยากจนคนที่ไม่มีทักษะเลยทำตามไม่ได้ และสำคัญที่สุดคือทั้งหมดที่กล่าวมาต้องจบภายใน 2 วัน จากข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เราตัดสินใจทำ “เก้าอี้บาร์  ”  ในการทำกิจกรรมในครั้งนี้

               เริ่มกิจกรรมด้วยภาคบรรยายที่เกี่ยวข้องกับ หลักการออกแบบเบื้องต้น วิธีคิด วางแผนการผลิต เทคนิคการใช้เครื่องมือแบบต่าง ๆ พูดคุยเพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการการออกแบบและวางแผนที่ดีก่อนลงมือทำ เพื่อให้ชุมชนมีหลัก มีตัวช่วยเวลาต้องการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ของตัวเองในอนาคต รวมถึงเรื่องของช่องทางการจัดจำหน่าย กรณีศึกษาของคนขายงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของงานไม้ไผ่ที่มีอยู่ในตลาด จากนั้นเป็นเรื่องของหลักการในการประกอบเฟอร์นิเจอร์ให้แข็งแรง ด้วยแทนนิคการเข้าเดือยและการดามตามรอยต่อในจุดต่าง ๆ

               การประกอบเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ในวันนี้ ใช้เทคนิคของ VC bamboo ที่ใช้หลัการเข้าเดือยไม้ไผ่ที่มีความพอดีกับรูเจาะ โดยใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายกับหัวเหล่าดินสอในการเตรียมชิ้นงานก่อนประกอบให้พอดีกับรูเจาะร่วมกับการดามแบบสามเหลี่ยมในแต่ละตำแหน่งที่มีการเข้าเดือย ด้วยเทคนิคเหล่านี้สามารถทำให้งานเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ที่ทำขึ้นจากไม้ขนาดเล็กมีความแข็งแรงขึ้นมาได้

การทำกิจกรรมในวันนี้จะเน้นกระบวนการผลิตง่าย ไม่ซับซ้อน และยังใช้เครื่องมือการผลิตแบบพื้นฐานที่ชุมชุนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ชุมชนสามารถนำเทคนิคและวิธีการเหล่านี้ไปต่อยอดกับงานของตนเองให้มีความหลากหลายในอนาคตได้

               ขั้นตอนสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้ คือ การเก็บรายละเอียด ตกแต่งชิ้นงานให้เรียบร้อย ทำสีให้สวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานอีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เทคนิคและเวลาในการทำงานค่อนข้างสูงเนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ที่มีผิวมันและมีส่วนผสมที่เป็นซิลิกา (Silica) ทำให้การทำสีด้วยวิธีปกติไม่ได้ การเตรียมผิวชิ้นงานและการเลือกใช้สีให้ตรงกับสมบัติของไม้ไผ่นั้นจึงเป็นอีกขึ้นตอนที่จะส่งผลต่อคุณภาพของเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

             การจัดเวิร์กช็อป (Workshop) จบลงอย่างสนุกสนานและได้รับประสบการณ์ดี ๆ กลับบ้าน ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับ “เก้าอี้บาร์” ที่ตัวเองได้ลงมือทำกลับไปใช้งานที่บ้านพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ เทคนิค หลักการออกแบบเบื้องต้นที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ ที่สำคัญ คือ ชุมชนได้ความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าการออกแบบที่ดี อ้างอิงกลุ้มเป้าหมาย สามารถเพิ่มโอกาสในการขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากระหว่างการทำเวิร์กช็อป (Workshop) ได้มีผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุยเพื่อสอบถามราคากันตั้งแต่ชิ้นงานยังไม่เสร็จเลย

ใครที่สนใจอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ สามารถเพิ่มเพื่อนได้ที่ LINE official: @fablabbkk 

สำหรับคนที่สนใจ ในปีนี้…..  เรามีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ตลอดทั้งปีให้ได้เข้าร่วม 

ติดตามกันได้ที่ 

Facebook : FabLab Bangkok หรือ KX Knowledge Xchange เพื่อไม่พลาดกิจกรรมดี ๆ ที่รออยู

The Community Journey : การทำกระบะของคนปลูกผัก

The Community Journey :
การทำกระบะสำหรับคนปลูกผัก

           เมื่อปลายปีที่แล้วได้มีโอกาสจัดเวิร์กช็อป (Workshop) “งานไม้เบื้องต้น” ภายใต้การสนับสนุนของ FabLab Bangkok โดยมีผู้ร่วมกิจกรรม คือ สมาชิกเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Urban Farming Business Network)

          เนื่องจากเป็นการจัดเวิร์กช็อป (Workshop) ของตัวเองครั้งแรก ก็เลยไม่มั่นใจว่าจะออกมาถูกใจผู้ร่วมกิจกรรมขนาดไหน แต่สุดท้าย…ทุกคนก็จบคอร์สเรียนอย่างมีความสุขพร้อมกับนำของที่ตัวเองได้ลงมือทำตลอดทั้งวันกลับบ้านอย่างมีความสุข

          กิจกรรมเริ่มขึ้นตอน 09.30 น. ในระหว่างที่รอให้ทุกคนมากันครบนั้นก็มีการพูดคุย แนะนำตัวกันนิดหน่อย ซึ่งก็ทำให้รู้ว่ากลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมนั้นมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ แต่มีความสนใจทางด้าน Circular Urban Farming คล้าย ๆ กัน ก็เลยมีโอกาสได้รวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงคอร์สกระบะปลูกผักนี้ด้วย

        สำหรับโจทย์ของเวิร์กช็อป (Workshop) คือ กระบะปลูกผักที่สามารถขนขึ้นรถเก๋งกลับบ้านได้ แต่มีเงื่อนไขที่ยากกว่า ก็คือ ผู้ร่วมกิจกรรมเองก็ไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลย ส่วนใหญ่แล้วไม่มีประสบการณ์ ไม่คุ้นเคยกับการใช้งานอุปกรณ์แต่ละประเภทและก็กลัวอันตรายจากการใช้เครื่องมือ แต่ก็มีความสนใจที่อยากจะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ติดอยู่ที่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ก็เลยไม่เคยได้ลองทำหรือเริ่มซักที

” เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราสามารถทำสิ่งนั้นได้ หากเราไม่ได้ลงมือทำจริงๆ และหลาย ๆ ครั้ง …ความไม่รู้ก็ทำให้เราความกลัวที่จะลงมือทำและทำให้เราพลาดประสบการณ์เหล่านั้นไป…”

       พราะคำว่าไม่รู้ ไม่มีเคยทำ ไม่มีประสบการณ์ ไม่กล้า ก็เลยเป็นที่มาของการจัดเวิร์กช็อป (Workshop) หรือคอร์สในวันนี้นั่นเอง ไม่รู้ไม่เป็นไร…ปล่อยหัวให้โล่ง ๆ แล้วไปลงมือทำกันเลย

ปรับพื้นฐานด้วยการเล่าถึงที่มา ชนิด/ประเภทของไม้และวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในกิจกรรม รวมถึงวัสดุที่มีความใกล้เคียงกัน เพื่อให้เห็นภาพรวมและสามารถเลือกซื้อวัสดุได้ตรงกับจุดประสงค์ของการใช้งาน

ไม้ เป็นวัสดุหลักที่ถูกใช้ในการจัดกิจกรรมในวันนี้ ในท้องตลาดบ้านเราก็มีหลากหลายขนาด หลากหลายเกรดและก็หลากหลายราคาให้เลือกใช้ หากเข้าใจว่าแต่ละชนิดมีข้อดี-ข้อเสียเสียยังไง ก็จะเลือกใช้ได้เหมาะสมและคุ้มค่ากับฟังก์ชั่นก์การใช้งานมากที่สุด

” ไม้พาเลท ” คือ หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการทำกระบะปลูกต้นไม้เนื่องจากเป็นวัสดุรีไซเคิล มีราคาถูก มีที่มาจาก “ พาเลทไม้ ” ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้รองรับสินค้า จัดเก็บสินค้าในการขนส่ง เป็นเเท่นที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ เมื่อหมดอายุการใช้งานก็จะถูกรื้อเป็นแผ่น มีตำหนิของรอยตะปูจากการประกอบและกลายเป็น “ ไม้พาเลท ”

” ออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน ภายใต้ข้อจำกัดที่มี… “

ไม้พาเลท เป็นวัสดุที่มีความยาวไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตว่าต้องการใช้งานขนาดเท่าไหร่ ตอนถอดมาขายก็จะมีขนาดคละกันไป ดังนั้น…การออกแบบกระบะก็ควรจะให้สอดคล้องกับข้อจำกัดของวัสดุที่มี ส่งผลต่อการกำหนดความกว้างและความยาวของกระบะไม้ หากเรากำหนดขนาดในขั้นตอนการออกแบบไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดวัสดุเหลือทิ้ง ใช้งานได้ไม่คุ้มค่า

              อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การเข้าใจในวิธีทำงานอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้าห้องปฏิบัติงาน (Workshop) ก่อนเริ่มลงมือปฏิบัติผู้ร่วมกิจกรรมจะได้รับการถ่ายทอดหลักการใช้งาน ประเภทของอุปกรณ์/เครื่องมือต่าง ๆ อย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้คนรอบข้าง

” ช่วงแรก ๆ สังเกตได้ถึงความกังวล ก่อนใช้เครื่องมือต้องมีคนประกบ หลัง ๆ มาคือใช้งานได้เองอย่างคล่องแคล่วและกลายเป็นผู้สอนคนอื่นต่อได้เลย”

เครื่องมือมีหลายประเภท แต่ละตัวมีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน ไม่มีตัวไหนดีที่สุด มีแต่คำว่าเหมาะที่สุด เมื่อเข้าใจก็เลือกใช้ได้ถูกต้อง กล้าใช้มากขึ้นและสร้างสรรค์ได้ตามที่ตัวเองตั้งใจ สังเกตได้จากผู้ร่วมกิจกรรมหลาย ๆ คน ช่วงแรกยังตกใจกับเสียงเครื่องเลื่อยไฟฟ้า จะใช้แต่เลื่อยมือ พอเข้าใจการทำงานที่ถูกต้อง แต่ช่วงท้ายของเวิร์กช็อป (Workshop) กลับเลือกที่จะใช้แต่เลื่อยไฟฟ้า

” การประกอบ ” เป็นอีกขั้นตอนที่ขาดไม่ได้และมีความสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ แม้ว่าเราจะออกแบบได้ดีแค่ไหนหรือตัดเตรียมชิ้นงานต่าง ๆ ที่จำเป็นไว้ทั้งหมดแล้วแล้ว แต่ถ้าเราไม่รู้วิธีหรือเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ยึดประกอบที่เหมาะสมแล้วนั้น งานที่เราวางแผนและลงมือทำไว้ก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น… การเข้าใจในวิธีและวัสดุสำหรับการยึดประกอบที่เหมาะสม จะช่วยให้ชิ้นงานหลังการประกอบมีความแข็งแรง สามารถใช้งานได้ยาวนานและเหมาะสมกับฟังก์ชั่นที่เราต้องการและวางแผนไว้ 

การจัดเวิร์กช็อป (Workshop) จบลงอย่างมีความสุข ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนได้รับกระบะปลูกผักที่ตัวเองได้ลงมือทำกลับไปใช้งานที่บ้านพร้อมกับความรู้ ความเข้าใจ เทคนิคการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับงาน หลักการใช้งานเครื่องมือได้อย่างปลอดภัย และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้การความภูมิใจ ความมั่นใจในตัวเองที่สามารถลงมือทำในสิ่งที่เคยคิดว่าทำไม่ได้จนประสบความสำเร็จ สำหรับคนที่สนใจ ในปีนี้…เรามีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ตลอดทั้งปีให้ได้เข้าร่วม

ติดตามกันได้ที่

Facebook Fanpage : FabLab Bangkok หรือ KX Knowledge Xchange

เพื่อไม่พลาดกิจกรรมดี ๆ ที่รออยู่

ขอบคุณที่ติดตามจนจบ

 

สวัสดีครับ 1st (FabLab Maker)